SSOP วิธีปฏิบัติมาตรฐานด้านสุขาภิบาลสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร |
หนังสือ | ||||||||||||||||
เนื้อหาโดยย่อ
วิธีปฏิบัติมาตรฐานด้านสุขาภิบาล (Sanitation Standard Operating Procedure: SSOP) เป็นโปรแกรมพื้นฐาน (Prerequisite program) ที่หากนำไปปฏิบัติหรือปรับใช้จะเพิ่มประสิทธิภาพของโปรแกรมพื้นฐานที่เรียกว่า หลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice) มากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจาก SSOP จะช่วยตรวจติดตามสภาพแวดล้อมของการผลิตอาหาร และกิจกรรมการปฏิบัติงานของพนักงาน หากพบข้อบกพร่องหรือเบี่ยงเบนไปจะดำเนินการปฏิบัติแก้ไข และบันทึกเป็นหลักฐาน ทำให้สามารถควบคุมอันตรายจากสภาพแวดล้อมของการผลิตอาหาร และกิจกรรมการปฏิบัติงานของพนักงานที่อาจปนเปื้อนสู่อาหาร พื้นผิวสัมผัสอาหาร หรือบรรจุภัณฑ์อาหารได้ ดังนั้น การประยุกต์ SSOP ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจะส่งผลสนับสนุนการพัฒนาระบบการวิเคราะห์อันตราย และจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point) สำหรับการควบคุมอันตรายในวัตถุดิบ และขั้นตอนการผลิตให้ประสบผลสำเร็จง่ายขึ้น องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกข้อกำหนด SSOP เบื้องต้นไว้ดังนี้ ความปลอดภัยของน้ำ น้ำแข็ง และไอน้ำ สภาพและความสะอาดของพื้นผิวสัมผัสอาหาร การป้องกันการปนเปื้อนข้าม การบำรุงรักษาอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการล้างมือ การฆ่าเชื้อมือ และห้องสุขา การป้องกันการปนเปื้อนของอาหาร บรรจุภัณฑ์อาหาร และพื้นผิวสัมผัสอาหารจากสิ่งแปลกปลอม การใช้ การเก็บรักษา และการปิดฉลากที่เหมาะสมสำหรับสารเคมีพิษที่ใช้ในโรงงาน การควบคุมสภาพร่างกาย และสุขภาพของพนักงาน และการป้องกันควบคุมแมลงและสัตว์อื่น โรงงานอุตสาหกรรมอาหารมีเป้าหมายผลิตผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจัดการควบคุมโปรแกรมพื้นฐานโดยเฉพาะ SSOP ให้มีประสิทธิภาพ โดยบุคลากรทุกคนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้บริหารที่ต้องให้ความสำคัญด้วยการกำหนดเป็นนโยบาย และพนักงานในโรงงานต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้และความเข้าใจ รวมทั้งสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
|